ข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)
ผู้ทำรายการ : shopaga.kวันที่ : 10/10/2023หมวด : โรค บทความโดย ภญ.พรลภัส บุญสอน (ป่าน)
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นข้ออักเสบรูปแบบหนึ่ง พบในประชากรกว่าล้านคนทั่วโลก เกิดจากกระดูกอ่อนที่อยู่ส่วนปลายของกระดูกเสื่อม นอกจากบริเวณเข่าแล้วยังสามารถพบอาการข้อเสื่อมได้ในบริเวณอื่น ๆ อีก เช่น มือ สะโพก และกระดูกสันหลัง
อาการของโรคข้อเข้าเสื่อม
- ปวด: โดยจะปวดบริเวณข้อที่เกิดการเสื่อมหรือหลังจากเคลื่อนไหว
- ข้อฝืด: สังเกตได้หลังจากตื่นนอนตอนเช้าหรือไม่ได้เคลื่อนไหว
- กดเจ็บ: เจ็บบริเวณข้อแม้จะใช้แรงเพียงเล็กน้อย
- ขาดความยืดหยุ่น: ไม่สามารถขยับข้อได้ง่าย อาจต้องเคลื่อนไหวอย่างเต็มแรง
- มีเสียงดังในข้อ: เมื่อขยับข้ออาจจะได้ยินเสียงข้อลั่นหรือเสียงดังกรอบแกรบ
- กระดูกงอก: อาจมีกระดูกที่นูนออกมาบริเวณรอบ ๆ ข้อ
- บวม: บริเวณเนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้ออาจมีอาการอักเสบ ทำให้พบอาการบวมขึ้นได้
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ปัจจัยเสี่ยง
- อายุ: โรคข้อเข่าเสื่อมพบมากขึ้นในคนที่อายุเยอะขึ้น
- เพศ: พบมากในคนไข้เพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน
- น้ำหนักตัวเยอะ: หากคนไข้มีน้ำหนักตัวเยอะเกินเกณฑ์ จะยิ่งทำให้ข้อต้องรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ไขมันยังทำให้เกิดการผลิตสารโปรตีนบางชนิดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบภายในหรือรอบ ๆ ข้อต่อได้อีกด้วย
- การทำกิจกรรมบางอย่างซ้ำ ๆ เช่น กิจกรรมจากการทำงานหรือเล่นกีฬา ทำให้ข้อถูกใช้งานหนักและต้องรับแรงดันมากเกินไป
- พันธุกรรม โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคข้อเสื่อมอยู่แล้ว
- รูปกระดูกผิดปกติ เช่น คนไข้บางคนมีรูปกระดูกหรือกระดูกอ่อนที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด
- มีภาวะเมทาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) เช่น โรคเบาหวานหรือภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis)
ภาวะแทรกซ้อน
โรคข้อเข่าเสื่อมจัดเป็นโรคที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงในลักษณะของความเสื่อม โดยอาการจะยิ่งแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป ส่งผลให้คนไข้มีอาการปวดเรื้อรัง อาการปวดข้อและข้อฝืดจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไข้ลดลง ยิ่งไปกว่านั้นอาจทำให้คนไข้นอนไม่หลับและเกิดความวิตกกังวลจากอาการปวดและการใช้งานของข้อไม่ได้ดีตามที่คาดหวัง
การรักษา
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและทำให้คนไข้สามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
- การรักษาโดยการใช้ยา
- พาราเซตามอล ใช้บรรเทาปวดสำหรับอาการปวดน้อยถึงปานกลาง
- ยาแก้ปวดอักเสบกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), นาพรอกเซน (Naproxen) แนะนำให้ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดชั่วคราว
- ดูล็อกซีทีน (Duloxetine) เป็นยาต้านซึมเศร้า นำมาใช้สำหรับอาการปวดเรื้อรังในโรคข้อเข่าเสื่อม
- การผ่าตัดหรือใช้วิธีรักษาอื่นๆ
- ใช้ยาฉีดสเตียรอยด์เข้าบริเวณข้อในคนไข้ที่มีอาการปวดค่อนข้างรุนแรง
- ใช้ยาฉีด hyaluronic acid เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดการกระแทก เพราะเป็นอนุพันธ์ที่พบในน้ำไขข้ออยู่แล้ว
- ผ่าตัดข้อบริเวณที่เสียหายออก แล้วใส่เป็นโลหะหรือพลาสติกเข้ามาแทนที่
การดูแลตนเอง
การออกกำลังกายและลดน้ำหนักในคนไข้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนไข้ควบคุมและรักษาอาการได้ดี เพราะการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและลดอาการปวดได้ การออกกำลังกายเบา ๆ ที่คนไข้สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เช่น การว่ายน้ำหรือการเดิน นอกจากนี้การลดน้ำหนักยังช่วยลดแรงดันในข้อและช่วยบรรเทาอาการปวดจากโรคนี้ได้ดี
เอกสารอ้างอิง
- Mayo Foundation for Medical Education and Research (MFMER). Osteoarthritis [Online]. 2021. Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/osteoarthritis/diagnosis-treatment/drc-20351930 [2023, October 7]
- สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย. โรคข้อเสื่อมคืออะไร [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://thairheumatology.org/index.php/learning-center/for-people/for-people-3?view=article&id=17:1-5&catid=12 (7 ตุลาคม 2566)
Image by storyset on Freepik
บริษัท กรุงเทพดรักสโตร์ จำกัด
2585/2 ถนนลาดพร้าว(ใกล้ปากซอยลาดพร้าว 87)แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10310
โทร: (02)538-7900 แฟกซ์: (02)538-5508
E-mail: bangkokdrugstore@yahoo.com
[คลิกที่ภาพเพื่อดูแผนที่ขนาดใหญ่]