Call Center: (02)538-2229
 สำนักงาน: (02)538-7900
 Fax: (02)538-5508
 E-mail: bangkokdrugstore@yahoo.com

การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง


ผู้ทำรายการ : shopaga.kวันที่ : 26/07/2023หมวด : ยา

     ยาปฏิชีวนะ หรือ Antibiotic เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ตัวอย่างยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนนิซิลลิน อะม็อกซีซิลลิน ซัลฟา นอร์ฟล็อกซาซิน อิริโทรมัยซิน เป็นต้น ยาปฏิชีวนะใช้เฉพาะเมื่อเกิดความเจ็บป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคเท่านั้น และยาที่ใช้ต้องตรงกับเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ โรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียมีเป็นจำนวนมาก ที่พบบ่อยในบ้านเราได้แก่ อหิวาตกโรค โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ โรคไอกรน โรคบาดทะยัก โรคฉี่หนู โรคไทฟอยด์ วัณโรค โรคต่อมทอนซิลอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบเป็นหนอง โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคหนองใน โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิดโรคท้องร่วง (ท้องเสีย) โรคลิ้นหัวใจอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย โรคเรื้อน

ข้อแนะนำสำหรับการใช้ยาปฏิชีวนะ 

  1. อาจเกิดการแพ้ยาได้ ซึ่งอาการแพ้มีตั้งแต่น้อยจนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นผู้ที่เคยแพ้ยาปฏิชีวนะตัวใดควรจำชื่อยาดังกล่าวไว้ และแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งเพื่อไม่ให้ได้รับยาปฏิชีวนะตัวที่แพ้และเกิดอาการแพ้ยาซ้ำขึ้นอีก
  2. ยาปฏิชีวนะต้องรับประทานยาจนครบเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุดและลดปัญหาการดื้อยา บ่อยครั้งที่มีการรับประทานยาปฏิชีวนะไม่ครบ สิ่งเหล่านี้ไม่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง

     การดื้อยาของเชื้อ คือการที่ใช้ยาปฏิชีวนะแล้วไม่ได้ผลในการรักษา อันเนื่องมาจากการรับประทานยาไม่ครบ จึงเป็นสาเหตุให้เชื้อแบคทีเรียบางตัวรอดชีวิตและเกิดการกลายพันธุ์ ตลอดจนผลิตเชื้อแบคทีเรียรุ่นต่อมาที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะนั้น ๆด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการเปลี่ยนยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ที่มีการครอบคลุมเชื้อที่ดีกว่าหรือมีความแรงที่มากกว่าเดิมเพื่อที่จะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อในตอนแรกได้ ซึ่งทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงขึ้นเกินความจำเป็น

     หากเป็นไปได้ เราควรทราบถึงวิธีป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาใช้ยาปฏิชีวนะ การป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียทำได้โดยรักษาความสะอาดส่วนบุคคล เช่น

  1. การล้างมือฟอกสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
  2. ล้างมือหลังอุจจาระและปัสสาวะทุกครั้ง
  3. อาบน้ำให้ร่างกายสะอาดทุกวัน
  4. เลือกดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุก
  5. รู้จักป้องกันตนเองจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เช่น สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องดูแลหรืออยู่ใกล้ชิดคนป่วย หรือเมื่อมีอาการเจ็บป่วยของระบบทางเดินหายใจ ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น
  6. รักษาสิ่งแวดล้อมบ้านเรือนให้สะอาด อย่าให้เป็นที่สะสมและเพาะเชื้อแบคทีเรีย
  7. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ เช่น ไม่กลั้นปัสสาวะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ไม่รับประทานยากดภูมิต้านทานโดยไม่จำเป็น เช่น ยาพวกสเตียรอยด์ที่มักผสมในยาชุดหรือยาลูกกลอน เป็นต้น
  8. ถ้ามีโรคประจำตัวที่ทำให้ติดเชื้อง่าย เช่น โรคเบาหวาน ก็ควรทานยาควบคุมน้ำตาลเพราะการมีน้ำตาลในเลือดสูงจะทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย
  9. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่มีวัคซีนป้องกัน ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และกระทรวงสาธารณสุขเช่น วัคซีนป้องกันโรคไอกรนและวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักเป็นต้น

Reference

1. Clive P, Michael C, Morley S, Michale W and Brian H, Integrated Pharmacology second edition, Mosby 2002, Chapter 9 Drugs and Bacteria p.111-118.
2. Prem N, Clinical Pharmacology, Globalmedik 2007, Chapter 53 Principles to Guide Antimicrobial Therapy p.296-301.

3. Fulcher E, Fulcher R and Soto C, Pharmacology: Principles and Applications second edition, Elsevier 2009, Chapter 18: Antimicrobials, Antifungal and Antivirals, p.331-338.

บทความโดย ภญ.สุพรรณิการ์ หอวรรธกุล

Image by Freepik


บริษัท กรุงเทพดรักสโตร์ จำกัด
2585/2 ถนนลาดพร้าว(ใกล้ปากซอยลาดพร้าว 87)แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10310
โทร: (02)538-7900 แฟกซ์: (02)538-5508
E-mail: bangkokdrugstore@yahoo.com

[คลิกที่ภาพเพื่อดูแผนที่ขนาดใหญ่]