Call Center: (02)538-2229
 สำนักงาน: (02)538-7900
 Fax: (02)538-5508
 E-mail: bangkokdrugstore@yahoo.com

กลัวผิวคล้ำ แต่ไม่อยากทำร้ายปะการัง


ผู้ทำรายการ : shopaga.kวันที่ : 15/10/2021หมวด : เวชสำอาง

แสงแดดเป็นตัวการสำคัญที่ส่งผลต่อผิวพรรณ ทั้งทำให้เกิดความหมองคล้ำ สีผิวไม่สม่ำเสมอ และหากสัมผัสแสงแดดอย่างต่อเนื่องก็จะส่งผลให้ผิวมีริ้วรอย เกิดความแก่ของผิวหนัง ในระยะยาวยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนังอีกด้วย ดังนั้น สิ่งที่หลาย ๆ คน ต้องมีติดกายเมื่อสัมผัสแสงแดดจ้า คือ ครีมกันแดด โดยเฉพาะเมื่อไปทะเลหรือทำกิจกรรมดำน้ำ แต่รู้หรือไม่ว่า สารเคมีบางกลุ่มที่ถูกใช้เป็นส่วนผสมในครีมกันแดดอาจส่งผลต่อปะการังหรือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลได้ เมื่อเราทาครีมกันแดดแล้วสารนี้ถูกชะโดยน้ำทะเล ทำให้มีการสะสมของสารเหล่านี้ในน้ำทะเล มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์คาดว่า ในแต่ละปีผลิตภัณฑ์กันแดดที่ถูกชะล้างจากผิวมนุษย์และตกค้างลงท้องทะเลทั่วโลกน่าจะมากถึง 1.4 หมื่นตัน

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนําและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าในอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากพบว่าสารเคมีเหล่านั้นทําลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์ ทําให้ปะการังฟอกขาว และยังเป็นอันตรายต่อระบบการสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำ ก่อให้เกิดโรคระบบสืบพันธุ์ในปลาตัวผู้ และนำมาสู่เซลล์ตัวอ่อนของสัตว์น้ำที่ผิดรูป ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่ออกกฎหมายนี้ ต่อจากฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐปาเลา

ส่วนประกอบที่เป็นอันตราย ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้แก่

  1. สารอ็อกซีเบนโซน (Oxybenzone) เป็นสารที่นิยมใช้เป็นส่วนประกอบในครีมกันแดด เนื่องจากสามารถดูดซับทั้งรังสียูวีเอและยูวีบี ซึ่งเป็นตัวการหลักในการทำลายผิว สารอ็อกซีเบนโซน นี้นอกจากส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำทะเลแล้ว ยังทำให้เกิดอาการข้างเคียง คือ อาการแพ้แสงในคนได้อีกด้วย
  2. อ็อกติโนเสต (Octinoxate หรือ Ethylhexyl methoxycinnamate) เป็นสารกันแดดที่ดูดซับพลังงานจากรังสียูวีบีแล้วกระจายออกในรูปความร้อน นอกจากคุณสมบัติในการป้องกันรังสียูวีบีแล้ว เครื่องสำอางส่วนใหญ่มักมีสารนี้เป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มความคงตัวและเพิ่มความสามารถของผิวหนังในการดูดซึมสารอื่น ๆ ตัวอย่างเครื่องสำอางที่มีสารอ็อกติโนเสตเป็นส่วนประกอบ เช่น ครีมรองพื้น สีย้อมผม โลชั่น มีการวิจัย เมื่อปี พ.ศ. 2558 พบว่า สารนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปะการังฟอกขาว
  3. 4-Methylbenzylid Camphor เป็นสารเคมีอีกตัวที่ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยการดูดซับรังสียูวี และมักใช้ร่วมกับสารเคมีตัวอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความคงตัวในการปกป้องผิวจากแสงแดด
  4. บิวทิลพาราเบน (Butylparaben) เป็นสารกันเสียที่มักผสมเพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานของครีมกันแดดให้ใช้ได้นานขึ้น แต่พาราเบนเป็นสารเคมีอีกตัวที่ทำให้ปะการังตาย และยังระคายเคืองผิว

 

หากต้องการปกป้องทั้งผิวโดยไม่ทำร้ายปะการัง ทำได้โดย

  1. เลือกครีมกันแดดที่ระบุว่า เป็นมิตรต่อปะการัง หรือ Reefsafe หรือพิจารณาจากส่วนผสมในฉลากของผลิตภัณฑ์ ไม่มีส่วนผสมของสารอ็อกซีเบนโซนและสารอื่น ๆ ตามที่กล่าวมา
  2. เลือกครีมกันแดดที่ใช้สารกันแดดแบบ Physical sunscreen เช่น ซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) หรือ ไททาเนียม ไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) ซึ่งไม่ละลายน้ำ 
  3. สวมเสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย เช่น แขนยาว-ขายาว เพื่อช่วยลดความจำเป็นในการใช้ครีมกันแดดในปริมาณมาก ๆ  

ที่มา

Cammy Pedroja, Octinoxate in Cosmetics: What You Should Know, ค้นวันที่ 13 ตุลาคม 2564 จาก https://www.healthline.com/health/octinoxat

ภาพจาก Water vector created by macrovector - www.freepik.com


บริษัท กรุงเทพดรักสโตร์ จำกัด
2585/2 ถนนลาดพร้าว(ใกล้ปากซอยลาดพร้าว 87)แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10310
โทร: (02)538-7900 แฟกซ์: (02)538-5508
E-mail: bangkokdrugstore@yahoo.com

[คลิกที่ภาพเพื่อดูแผนที่ขนาดใหญ่]